เทคโนโลยีชีวภาพ กับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของมนุษย์

เทคโนโลยีชีวภาพ เป็นเทคโนโลยีที่พัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต หรือทำด้วยสิ่งมีชีวิต เพื่อประโยชน์ในด้านต่างๆของมนุษย์ อย่างเช่นด้านการเกษตร ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านการบริโภค หรือทางด้านการแพทย์ โดยเทคโนโลยีชีวภาพจะได้จากระบบของสิ่งมีชีวิตที่มีชีวิตอยู่เพื่อสร้างหรือปรับปรุงคุณสมบัติบางอย่างของสิ่งมีชีวิตเพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะทาง
การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีชีวภาพสามารถแบ่งได้อย่างน้อย 4 ด้าน ด้านแรกเป็นเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการเกษตร ที่มีการใช้ประโยชน์กันอย่างกว้างขวางมากที่สุด โดยใช้การพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์พืช หนึ่งในวิธีดังกล่าวก็คือเทคโนโลยีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเพื่อขยายพันธุ์กล้วยไม้ให้ได้ปริมาณมากๆเพียงพอกับการส่งออก หรือใช้การตัดแต่งยีนด้วยวิธีที่เรียกว่าพันธุวิศวกรรม เพื่อให้พืชนั้นมีความทนทานต่อโรคต่างๆและยังต้านทานต่อศัตรูพืชอีกด้วย และที่นิยมใช้กันอีกวิธีก็คือเทคโนโลยีการพัฒนาให้ผลไม้สุกช้าลงเพื่อประโยชน์ในการขนส่งที่ไกลและนาน ด้านที่สองเป็นเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการอุตสาหกรรมโดยเฉพาะทางด้านอาหาร เมื่อในกระบวนอาหารเข้าสู่กระบวนการอุตสาหกรรมจึงจำเป็นต้องมีมาตรฐานและปริมาณมากขึ้น เทคโนโลยีที่ใช้ก็อย่างเช่นการลดปริมาณโคเลสเตอรอลในไข่แดง หรือแม้กระทั่งเทคโนโลยีที่ใช้เพิ่มประมาณเนื้อของไก่ สุกร หรือโค ด้านที่สามเป็นเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นเทคโนโลยีที่ถูกผลักดันให้เกิดขึ้นเพื่อลดปริมาณการใช้สารเคมี เนื่องจากมีระบบอุตสาหกรรมกำเนิดขึ้นเป็นจำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบอย่างมากจนธรรมชาติไม่สามารถปรับและบำบัดตัวเองได้ทัน จึงมีการคิดค้นเทคโนโลยีในเรื่องการนำของเสียจากสิ่งมีชีวิตไปผลิตปุ๋ยที่เรียกว่าปุ๋ยชีวภาพเพื่อให้จุลินทรีจากของเสียไปบำบัดน้ำเสียอีกทีหนึ่ง จนกลายเป็นนวัตกรรมที่เรียกว่า EM (Effective Microorganism) และด้านที่สี่เป็นเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อการแพทย์ เป็นการต่อยอดของเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้กับสิ่งแวดล้อมแล้วเริ่มมีการนำมาวิจัยเพื่อใช้กับมนุษย์ ตัวอย่างก็คือ การผลิตวัคซีนป้องกันโรค การใช้เทคโนโลยีดีเอ็นเอเพื่อหาความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือโรคทางพันธุกรรมที่แต่เดิมไม่สามารถจะทราบได้เลย และที่สำคัญเลยก็คือการผลิตยาจากผลิตภัณฑ์จากสิ่งมีชีวิต เป็นต้น
สำหรับเทคโนโลยีชีวภาพที่มีการนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์และมีให้เห็นกันในชีวิตประจำวันจนชินตาก็มีมากมาย อย่างเช่น การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตไวน์ ซึ่งเป็นเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และทำจากน้ำองุ่น จากนั้นนำมาหมักด้วยยีสต์จนกระทั่งน้ำตาลในองุ่นถูกเปลี่ยนเป็นแอลกอฮอล์ นอกเหนือไปจากองุ่นก็ยังมีการนำผลไม้ชนิดอื่นๆมาผลิตด้วยก็จะให้กลิ่นและรสชาติที่แตกต่างกันไปตามชนิดของผลไม้ แต่ก็ยังได้รับความนิยมกันมากอยู่ดี เทคโนโลยีต่อไปก็คือการผลิตซีอิ๊วและเต้าเจี้ยวที่เป็นเทคโนโลยีในการหมักถั่วเหลืองกับเชื้อราจนกลายเป็นเครื่องปรุงรสอาหารที่มีอยู่ในแทบทุกบ้านเลยก็ว่าได้ เทคโนโลยีที่ใกล้เคียงกันก็อย่างเช่น การผลิตเต้าหู้ยี้ที่ใช้ก้อนเต้าหู้มาหมักด้วยเชื้อราแล้วก็หมักในน้ำปรุงรส สีแดงในเต้าหู้ยี้ก็มาจากสีของข้าวที่ถูกหมักด้วยเชื้อรา รวมไปถึงนมเปรี้ยวหรือโยเกิร์ตที่ใช้เทคโนโลยีชีวภาพมาประยุกต์ใช้ด้วยการนำนมชนิดต่างๆ มาหมักร่วมกับแบคทีเรีย พวกแลคโตบาซิลลัส เอซิโดซิส และสเตร็ปโตคอคคัส เทอร์โมฟิลลัส แบคทีเรียเหล่านี้จะเปลี่ยนน้ำตาลแลกโทสในนมเป็นกรดแลกติค ทำให้เกิดความเป็นกรดและมีรสเปรี้ยว ขนมปังก็เป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเทคโนโลยีชีวภาพ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้แป้งสาลีผสมกับน้ำและยีสต์ หรือผงฟู จากนั้นนำส่วนผสมต่างๆมาตีรวมกันจนเป็นเนื้อเดียวกันแล้วนำไปอบ อาจมีการแต่งรสแต่งกลิ่นเพิ่มรสชาติด้วยก็ได้ ผลิตภัณฑ์ต่อมาก็คือ แหนม เป็นการนำเนื้อหมูผสมกับหนังหมูเติมส่วนผสมและเครื่องเทศต่างๆเข้าไปห่อด้วยใบตองหรือภาชนะอย่างอื่นมัดให้แน่น ในภาวะที่ไม่มีอากาศนั้นทำให้แบคทีเรียที่สร้างกรดแลกติคเจริญเติบโตได้ดีเกิดความเป็นกรดและทำให้แหนมมีรสเปรี้ยวในที่สุด ผลไม้ดองก็เช่นกันเป็นการนำเอาผลไม้ที่ต้องการถนอมไว้เป็นระยะเวลานานๆมาล้างให้สะอาดแล้วแช่ในน้ำปูนใสแล้วจึงนำไปดองในระยะเวลาที่เหมาะสม ในกระบวนการหมักดองจะเกิดกระบวนการออสโมซิสขึ้น น้ำตาลในผลไม้จะแพร่ออกมาอยู่ในน้ำเกลือที่ใช้ดอง จุลินทรีที่ปนเปื้อนมากับผลไม้ก็จะเจริญเติบโตได้ดี เกิดความเป็นกรดเข้มข้นขึ้นทีละนิดจนกระทั่งเข้าสู่ภาวะสมดุลจึงหยุดกระบวนการหมัก และเทคโนโลยีชีวภาพที่ยอดฮิตกันเมื่อไม่นานมานี้ก็คือ การใช้เทคโนโลยีชีวภาพในการผลิตน้ำหมักชีวภาพ เป็นเทคโนโลยีที่สร้างจุลินทรีจำนวนมากด้วยกระบวนการหมักจนมีสีดำเข้มหรือน้ำตาลเข้ม มีกลิ่นอมเปรี้ยวอมหวาน ใช้ปรับสมดุลของสิ่งแวดล้อม ช่วยบำบัดน้ำเสีย ช่วยขจัดกลิ่น โดยในกระบวนการหมักนั้นจะใช้วัตถุดิบตั้งต้นที่สำคัญคือสารที่ให้ความหวานตามธรรมชาติอย่างเช่น น้ำอ้อยหมัก สิ่งที่นำมาใช้หมักก็มีทั้งเศษพืชหรือซากสัตว์ก็มี