เทคโนโลยีที่หาญกล้าท้าพายุ!

พายุ (Storms) คือ ปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ซึ่งเกิดขึ้นบริเวณเขตอบอุ่นของมหาสมุทรใกล้เส้นศูนย์สูตร จากการลอยตัวขึ้นของมวลอากาศร้อน ส่งผลให้บริเวณพื้นผิวน้ำด้านล่างเกิดเป็นเขตความดันอากาศต่ำ จากนั้น อากาศโดยรอบที่มีความดันอากาศสูงเกิดการหมุนตัว เพื่อเข้ามาแทนที่เขตความดันอากาศต่ำ น้ำในอากาศจะควบแน่นเป็นก้อนเมฆ ระบบลมเมฆจะหมุนตัวเร็วขึ้นและขยายขนาดอันเนื่องมาจากความร้อนของมหาสมุทรและไอน้ำที่ระเหยออกมาจนกลายเป็นพายุในที่สุด
พายุมีการเรียกชื่อตามความเร็วใกล้จุดศูนย์กลางและบริเวณที่เกิด
ตัวอย่างเช่น พายุที่ความเร็วน้อยกว่า 63 กม./ชม. เราเรียก ‘ดีเปรสชั่น’ ส่วนพายุที่ความเร็วมากกว่า 118 กม./ชม. เราเรียกตามบริเวณที่เกิด ถ้าเกิดบริเวณมหาสมุทร อินเดีย เรียก ‘ไซโคลน’ ถ้าเกิดบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ เรียก ‘ไต้ฝุ่น’
ผลการวิจัยของ องค์การนาซ่าระบุว่าการ เปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิอัน เนื่องมาจากภาวะโลกร้อน ส่งผลให้อัตราการเกิดพายุโซนร้อนมีมากขึ้น กล่าวคือเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส อัตราการเกิดพายุจะเพิ่ม ขึ้น 6%
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะการที่อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น ปริมาณไอน้ำที่ระเหยบริเวณพื้นผิวมหาสมุทรซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งของการเกิดพายุก็แปรผันตามมา อีกทั้งยังมีการสะสมพลังงานของระบบที่สูงขึ้น เมื่อระบบคายพลังงานออกมาในรูปของพายุ ความรุนแรงของมันจึงมหาศาลกว่าในอดีตหลายเท่า
วาตภัยเหล่านี้ได้สร้างความเสียหายมากมายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชากรโลก ทั้งพื้นที่เกษตรกรรมที่ถูกทำลาย การตามมาของอุทกภัย การเกิดดินโคลนถล่ม การพังทลายของอาคารบ้านเรือน เหล่านี้นับเป็นผลกระทบร้ายแรงที่หลายคนพยายามหาหนทางเพื่อรับมือกับมัน
จนกระทั่งคนกลุ่มหนึ่งก้าวออกมาท้าทายอำนาจแห่งพายุ…
กรกฎาคม ปี 2001 บริษัทเล็กๆ ชื่อ ‘Dyn-O-Mat’ ได้ทำการทดลองโดยการบินออกไปนอกชายฝั่งฟลอริดาเหนือเมฆพายุ ผู้ทำการทดลองนำโดย ‘ปีเตอร์ เจ คอร์ดานี่ (Peter J. Cordani)’ ประธานบริษัท ได้ทำการโปรยผงบางอย่างลงไปเบื้องล่าง ไม่กี่นาทีต่อมา เมฆพายุก้อนนั้นก็สลายหายไปจากจอเรดาร์ราวกับเวทมนตร์
ผงขาวลักษณะเหมือนผงซักฟอกนั้นแท้จริงแล้วคือโพลิเมอร์ชนิดหนึ่งซึ่งมีชื่อว่า Dyn-O-Storm สามารถดูดซับอนุภาคน้ำจากเมฆหรือพายุแล้วเปลี่ยนให้กลายเป็นสารลักษณะคล้ายเจลได้
สารโพลิเมอร์ดังกล่าวทำจากกรดโพลีอะคริลิก (PAA) ซึ่งมีลักษณะโมเลกุลเป็นรูปตาข่ายยาว เมื่อเติม โซเดียมไอออนเข้าไปจะลดสภาพความเป็นกรดของสารให้เป็นกลางได้และก่อตัวเป็นตาข่ายที่สามารถดูดซึม ความชื้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เมื่อใส่ Dyn-O-Storm ลงไปในน้ำ โมเลกุลของน้ำจะแตกตัวออกและไปจับตัวกับไอออนที่มีประจุในตาข่ายโพลิเมอร์นั้น ทำให้น้ำข้นขึ้นกลายเป็นสิ่งที่คล้ายกับเจลหรือยางสีเทาในทันที นอกจากนี้มันยังสามารถ สลายตัวในน้ำทะเลได้ง่ายอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ยังนับว่ามีความเสี่ยงอยู่มาก ทั้งปริมาณสาร Dyn-O-Storm ที่ใช้ต่อครั้งนั้นมากถึง 300 ตัน จึงอาจเกิดข้อผิดพลาดระหว่างขนส่งได้ ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังไม่มีงานวิจัยใดออกมาระบุว่าสารนี้มีความปลอดภัยต่อร่างกายของมนุษย์มากน้อยเพียงใดหากเผลอสูดดมเข้าไปหรือได้รับสารนี้ในปริมาณมาก
ไม่เพียงเท่านั้น ในกรณีที่เกิดกระแสลมแรงขณะที่โปรยสารยับยั้งพายุลงไปจนส่งผลให้สารดังกล่าวปลิว กระจายไปทั่วก่อนที่จะทันได้สลายพายุล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น!?
นักวิจัยหลายท่านได้ออกมาคัดค้านผลการทดลองของบริษัท Dyn-O-Mat ว่าที่ผลลัพธ์ออกมาเป็น เช่นนั้นอาจเพราะประจวบเหมาะกับการอ่อนกำลังลงของพายุโดยธรรมชาติอย่างพอดิบพอดี คอร์ดานี่จึงออก มากล่าวว่า “ผมได้รับการติดต่อทั้งจากหอตรวจการณ์สภาพอากาศหรือแม้แต่สถานีโทรทัศน์ของไมอามี่ที่ยืนยันว่าพวกเขาเห็นเมฆพายุก่อตัวขึ้นสูงและหายไปจากจอเรดาร์ในเวลาไม่กี่วินาที” ซึ่งนั่นเป็นหลักฐานชั้นดีสำหรับ Dyn-O-Mat
แต่ Dyn-O-Storm เป็นเทคโนโลยีเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ด้วยกาลเวลาที่ผ่านไปย่อมมีสิ่งใหม่ถูกคิดค้น ขึ้นมาเสมอ อาจไม่ใช่วันนี้พรุ่งนี้แต่ในอนาคตมนุษย์ เราย่อมมีศักยภาพที่เพียงพอในการพัฒนาสิ่งเก่าให้มี ประสิทธิภาพที่ดีกว่าเดิม
สักสิบปีหรือยี่สิบปีมนุษย์เราอาจจะสามารถสร้างสรรค์สารเคมีหรือสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ซึ่งมีคุณสมบัติในการสลายพายุได้อย่างสมบูรณ์และปราศจากข้อเสีย ถึงตอนนั้นมนุษย์เราก็จะกลายเป็นผู้กำหนดสภาพอากาศ อย่างแท้จริง
สิ่งสุดท้ายที่อยากฝากให้ทุกท่านนำกลับไปคิดคือ เราควรรักธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มากกว่า นี้ เพราะหากเรายังคงทำร้ายโลกอยู่อย่างนี้ ต่อให้มีเทคโนโลยีที่วิเศษกว่านี้สักล้านเท่าก็ไม่อาจช่วยอะไรเรา ได้ เพราะสำนวนที่ว่า What goes around comes around (ทำสิ่งใดไว้ ย่อมได้รับผลจากสิ่งนั้น) ยังใช้ได้อยู่เสมอ
ขอให้ทุกคนที่ได้อ่านบทความนี้ได้โปรดรักโลกให้มากๆ ด้วยนะครับ