เอาจริงดิ รถบินได้เนี่ยนะ?

มนุษย์เรามีความฝันด้านการบินมาตั้งแต่ครั้งบรรพกาล หลังพี่น้องตระกูลไรท์ทดสอบสมมติฐานของตัวเองให้เห็น โลกจึงมีหวังที่จะพามนุษย์ขึ้นสู่ท้องฟ้า เมื่อผ่านการทดลองที่ล้มเหลวนับครั้งไม่ถ้วนจากหลายภาคส่วน ในที่สุดมนุษย์ก็ขึ้นไปสัมผัสดินแดนของพระเจ้าได้จริง ๆ แต่นั่นยังไม่ตอบโจทย์ของคนกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่เสียด้วย กลุ่มคนผู้คลั่งไคล้รถยนต์อย่างยิ่งยวด ทว่า…ไม่ได้ต้องการรถเพื่อขับขี่บนท้องถนน แต่ต้องการรถที่ขับขี่บนอากาศ หรือก็คืออยากให้รถบินได้นั่นแหละ!!!

The Moller M400 Skycar

ไม่ว่าแรงบันดาลใจเกี่ยวกับรถบินได้นี้จะมาจากการ์ตูน นิยาย หรือภาพยนตร์แนววิทยาศาสตร์ที่นำแสดงโดย บรู๊ซ วิลลิช ในขณะที่ยังพอมีผมอย่าง Fifth Element ก็ตาม พาหนะในฝันนี้มีคนเชื่อมั่นอย่างจริงจังว่าจะมีผู้ผลิตสักเจ้าลงมือทำให้มันเป็นจริงเสียด้วย ในปี 2010 บริษัทมอลเลอร์อินเตอร์เนชันแนล ในรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ผู้พัฒนารถ “The Moller M400 Skycar” เปิดให้จองรถที่อยู่ระหว่างการพัฒนานี้ด้วยราคาราว 500,000 เหรียญสหรัฐ ไม่น่าเชื่อว่าไอเดียเพี้ยน ๆ นี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีด้วยยอดจองกว่า 100 คันในปีแรก และมีลูกค้าใหม่ ๆ สนใจสั่งซื้อไม่ขาดสายด้วยคำโฆษณาที่ว่า มันสามารถบินได้ด้วยความเร็ว 360 ไมล์ต่อชั่วโมง ถ้าบินจากนครลอนดอนไปยังกรุงปารีส ใช้เวลาเพียงแค่ 35 นาทีเท่านั้น แถมยังบอกว่าสามารถพัฒนาให้สำเร็จได้ภายในสามปี นั่นก็คือจะสำเร็จเสร็จสิ้นในปี 2013 ฟังดูสุดหูรูดไปเลย แต่จนแล้วจนรอดป่านนี้ก็ยังไม่สำเร็จ หลังจากนั้น เรื่องรถบินของผู้ผลิตเจ้านี้ก็หายเงียบไปกับสายลม แม้จะมีหลายคนอัพโหลดวิดีโอทดสอบการบินของเจ้ารถบินได้คันนี้ลงในสื่อสังคมออนไลน์อยู่เรื่อย ๆ แต่ก็เป็นฟุตเทจเก่า ภาพเดิมมุมเดิมที่ถ่ายไว้กว่าสิบปีมาแล้ว เป็นมวยล้มต้มคนดูไปอีก

Aero Mobil Fryingcar

ล่าสุดในปี 2016 ฝันของรถบินได้ก็ถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้ง คราวนี้มันกลับมาอย่างยิ่งใหญ่ บินได้จริงทำขายจริง โดย​บริษัท Aero Mobil แบรนด์ดังสัญชาติ​สโลวะเกีย ​เปิด​ให้​จอง Aero Mobil First Edition ล็อต​แรกจำนวน 500 คัน​ สนนราคา 1.3-1.6 ล้านเหรียญสหรัฐ กำหนดส่งมอบคันแรกในปี 2020 เจ้า Aero Mobil Fryingcar ตัวนี้สามารถเมื่ออยู่บนท้องถนนมันก็คือ Super Car ดี ๆ นี่เอง แต่เมื่อกางปีกออกมันจะสามารถบินได้ที่​ความเร็ว 259 กม.​ต่อ​ชั่วโมง มีถังน้ำมันขนาดใหญ่ที่จุน้ำมันได้ถึง 90 ลิตร รับน้ำหนักบรรทุกได้ 250 กิโลกรัม และบินต่อเนื่องได้ไกลถึง 750 กิโลเมตร

ว่าแต่สรุปแล้วมันควรจะเป็นอากาศยานหรือเป็นรถยนต์กันแน่นะ?

 

Riding Assist-e จากฮอนด้า ระบบทรงตัวทีทำให้มอเตอร์ไซค์ไม่มีวันล้ม

                มอเตอร์ไซค์ ยานพหนะทางเลือก สำหรับคนที่ชอบความรวดเร็วในการเดินทาง แต่ด้วยลักษณะของมอเตอร์ไซค์ที่มีโครงสร้างเล็กและมีแค่สองล้อ เมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จึงเป็นเรื่องเสี่ยงที่คนขับจะได้รับอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ ถึงแม้ว่าจะมีหมวกกันน็อคไว้ปกป้องส่วนสำคัญอย่างศีรษะ แต่เมื่อเกิดเหตุรุนแรงจริง ๆ แล้ว ส่วนอื่น ๆ หมวกกันน็อคก็ป้องกันไม่ได้อยู่ดี

อุบัติเหตุร้ายแรงที่เกิดขึ้นกับคนขับมอไซเตอร์ไซค์ คือการเสียหลัก อาจจะเกิดจากการโดนชนหรือพื้นถนนลื่น ซึ่งเมื่อรถล้มร่างกายของคนขับจะไม่ได้รับการป้องกันจากอะไรเลย หนำซ้ำร่างของคนขับอาจจะถูกตัวรถมอเตอร์ไซค์ทำให้บาดเจ็บได้ด้วยอีกเช่นกัน

4 ปีที่ผ่านมาจึงมีการคิดนวัฒนกรรมใหม่ที่ได้รับความสนใจกันอย่างมาก นั่นคือรถมอเตอร์ไซค์ Lit C-1 หรือฉายาว่า รถสองล้อที่ไม่มีวันล้ม ซึ่งเป็นจุดขายหลักของรถยี่ห้อนี้ โดยมีการทดลองมากมายที่พิสูจน์ถึงความสามารถของมันว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุจริง ๆ Lit C-1 จะไม่เสียหลัก ซึ่งหลายคนก็ตั้งคำถามว่า ถึงรถจะไม่ล้ม แต่คนขับจะได้รับความปลอดภัยจริง ๆ หรอ เพราะว่าในบางสถานการณ์ การล้มบางทีอาจจะเป็นการช่วยชีวิตของคนขับได้

เดินหน้าพัฒนาต่อ จินตนาการที่จะเป็นจริงในไม่ช้า

                เมื่อปีที่แล้วในงาน CES 2017 Honda ได้เปิดตัวเทคโนโลยียานยนต์ใหม่ คือ Honda Riding Assist เป็นรถมอเตอร์ไซค์ที่มีฟังก์ชันที่เรียกว่า self balancing ซึ่งเป็นระบบที่สามารถทำให้ทรงตัวได้ด้วยตัวเอง โดยไม่ต้องให้คนขับทรงตัว ซึ่งถือว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยลบจุดบอดของลักษณะโครงสร้างมอเตอร์ไซค์ โดยการเอาคอนเซ็ปต์ไม่ล้ม มาพัฒนาต่อจนสำเร็จ ซึ่งนอกจากจะมีการทรงตัวด้วยตัวเองได้แล้ว ยังมีความสามารถที่ทำงานได้อย่างอัตโนมัติอีกมากมาย ซึ่งช่วยให้คนขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้รับความปลอดภัยเพิ่มขึ้นอย่างมาก

ถือเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่นำกฎการทรงตัวมาปรับใช้เข้ากับยานยนต์ที่มีอยู่ได้อย่างลงตัว และเกิดประโยชน์มาก เป็นสัญญาณให้เห็นว่าในอนาคตอีกไม่ช้า เราจะได้เห็นรถมอเตอร์ไซค์ที่ไม่มีวันล้มอย่างแน่นอน

แต่ทุกเทคโนโลยีมีทั้งข้อดีและข้อเสีย หลายคนชื่นชมกับความสำเร็จที่ทำให้ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์ได้รับความปลอดภัยมากขึ้น แต่มีบางส่วนที่ยังไม่เห็นด้วยกับเทคโนโลยีความปลอดภัยนี้ บางคนตั้งข้อสมมุติขึ้นมาว่า จริงอยู่ที่เทคโนโลยีนี้เป็นประโยชน์มากสำหรับคนขับที่จะไม่เสี่ยงรถล้ม แต่อุบัติเหตุนั้นเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้คาดคิด ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในรูปแบบไหนก็ได้ ซึ่งบางสถานการณ์ที่เป็นอุบัติเหตุนั้น ถ้ารถไม่ล้ม คนขับก็จะปลอดภัย แต่บางสถานการณ์และบางจังหวะที่อุบัติเหตุนั้นเกิดขึ้นอีกแบบ การไม่ล้มนั้นอาจจะทำให้ผู้ขับขี่ได้รับบาทเจ็บมากกว่าการล้ม จึงเสนอความคิดเห็นว่า จะเป็นการดีกว่านี้ถ้าตัวมอเตอร์ไซค์สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์อุบัติเหตุที่เกินขึ้นได้ หรือเราสามารถควบคุมที่จะทำให้มันเกิดได้ทั้งล้มหรือไม่ล้ม

แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม การมีเทคโนโลยีนี้ก็ดีกว่าการที่เราขับมอเตอร์ไซค์ปกติที่มีแค่การป้องกันจากหมวกกันน็อคอันเดียว เชื่อว่าจะยังคงมีการรับคำแนะนำหรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ กลับไป เพื่อนำไปพัฒนาต่อจนออกมาเป็นมอเตอร์ไซค์ที่ปลอดภัยและสมบูรณ์ที่สุดได้อย่างแน่นอน

 

รถยนต์ไร้คนขับ กับสังคมไทยในปัจจุบัน น่าสนใจแค่ไหน?

ภาพยนตร์เรื่องดังหลายเรื่องที่มักจะชวนฝันกับนวัตกรรมในโลกยุดหน้า ความไฮเทคอย่างหนึ่งที่น่าตื่นตาตื่นใจมาตลอดก็คือ ยานยนต์อัตโนมัติ ความฝันเหล่านั้นค่อย ๆ พัฒนาให้เกิดขึ้นจริงอย่างต่อเนื่องเรื่อยมา

รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ (Self-Driving Car) หรือ รถยนต์ไร้คนขับ (Driverless Car) เป็นการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาทิ เซ็นเซอร์หลัก ๆ 3 ชนิด คือกล้อง คลื่นอัลตร้าซาวด์ และเรดาร์ เพื่อที่จะรับรู้สภาพแวดล้อมรอบด้าน โดยการทำงานร่วมกันของเซ็นเซอร์ทั้ง 3 ใช้ในการตรวจหาตำแหน่ง แยกแยะ และคำนวนเพื่อประเมินระยะห่างของวัตถุโดยรอบ เพื่อหลบเลี่ยงสิ่งกีดขวางต่าง ๆ รถยนต์คันอื่น ๆ หรือแม้แต่คนที่เดินข้ามถนน รวมไปถึงสภาพถนนอีกด้วย

การพัฒนาการสร้างระบบแผนที่ ที่ไม่ใช่เพียงแค่แผนที่ แต่มีความซับซ้อนเสมือนจริงนั้น จะช่วยให้ระบบอัตโนมัติแยกแยะความแตกต่าง ระหว่างรูปภาพกับวัตถุจริง ๆ แต่รวมไปถึงตำแหน่งของไฟจราจร การปรับเปลี่ยนของไฟจราจร (เขียว, แดง, เหลือง) ความสูงของไฟจราจร ตำแหน่งทางม้าลาย ป้ายสัญญาณหยุด ระยะความกว้างของเลนถนน ระยะถนนกับทางเดินเท้า  เส้นที่ตีบนถนน (สีขาว, สีเหลือง) และ Artificial intelligence เพื่อให้รถขับเคลื่อนด้วยตัวเอง เชื่อมต่อระบบต่าง ๆ เหล่านี้เข้าไปยังระบบออนบอร์ดอิเล็กทรอนิกส์ สื่อสารด้วยเครือข่ายการเชื่อมโยงแบบไร้สายไปยังผู้ผลิต และผู้ให้บริการบุคคลที่สาม ในการเข้ามาจัดการแก้ไข และให้บริการในกรณีต่าง ๆ

ข้อดีของรถยนต์ไร้คนขับ

  1. ยกระดับความปลอดภัย เพราะรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติมีระบบการตรวจจับความเคลื่อนไหว ทำให้สามารถรับรู้และตอบสนองต่อสภาพภายนอกได้อย่างรวดเร็ว ช่วยลดอุบัติเหตุและความผิดพลาดจากคนขับ อาทิ ความสามารถในการขับขี่ สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์จากอาการเจ็บป่วย สติสัมปชัญญะไม่เต็มที่ไม่ว่าจะพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือดื่มแอลกอฮอล์ก็ตามที
  2. ยกระดับความสะดวกสบาย และเวลาที่เพิ่มมากขึ้นสำหรับผู้ขับขี่ เพื่อผู้ขับขี่สามารถนำเวลาในการเดินทางไปทำอย่างอื่นได้อย่างเต็มที่
  3. สภาพการจราจรบนท้องถนนที่ดีขึ้น เนื่องจากรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจะไม่มีการขับฉวัดเฉวียน ปาดซ้าย ปาดขวา ฝ่าไฟแดง แทรกเลน เลี้ยวกระทันหัน ไม่เกิดการฝ่าฝืนกฎจราจร จอดทุกครั้งเมื่อถึงไฟแดง มีทางม้าลายก็ต้องหยุดให้คนข้ามก่อนเสมอ และไม่ทำพฤติกรรมอันไม่พึงประสงค์อื่น ๆ

ข้อเสียของรถยนต์ไร้คนขับ

  1. อันตรายในกรณีที่เทคโนโลยีถูกแฮก โดยแฮกเกอร์อาจจะทำการรีโมทเข้ามาที่รถและสั่งการให้ระบบ Compromise เพื่อที่แฮกเกอร์สามารถขโมยข้อมูลด้านการค้าและข้อมูลส่วนตัว หรือ ปรับแต่งชุดคำสั่งของระบบควบคุมการทำงานของเครื่องยนต์ที่ส่งผลกับความปลอดภัยด้านกายภาพของคน หรือทำให้เครื่องยนต์มีความผิดพลาดด้วยเช่นกัน
  2. อัตราการว่างงานสำหรับบางอาชีพ อาทิ คนขับรถ หรือ แท็กซี่ รถเมล์ รถโดยสารต่าง ๆ รวมถึงตำรวจจราจรก็เช่นกัน
  3. ความลำบากในช่วงต้น ในกรณีที่รถยนต์อัตโนมัติไร้คนขับใช้ถนนร่วมกันกับรถยนต์ที่ผู้ขับขี่ปกติ รวมถึงค่าใช้จ่ายและต้นทุนในการผลิตที่ค่อนข้างสูงอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้น ค่าบำรุงรักษา การเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์จะซับซ้อน ต้องมีช่างผู้ชำนาญเฉพาะทางเป็นผู้ดูแล

ทุกอย่างในโลกย่อมก่อผลดีและผลเสียได้ทั้งนั้น การศึกษาที่เพิ่มขึ้นและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นการสร้างความหวังว่า จะสามารถลดทอนผลในด้านลบให้มากที่สุด คงต้องรอดูกันต่อไปว่าช่วงการเปลี่ยนถ่ายเข้าสู่โลกแห่งนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ต่างไปจากปัจจุบันในหลาย ๆ ด้านนี้ จะไปสู่จุดที่ทุกคนคาดหวังเมื่อไหร่กัน