E-sport ควรได้รับการยอมรับให้เป็นกีฬาหรือไม่?

แม้หลายฝ่ายจะผลักดันสุดลิ่มทิ่มประตูไปแล้ว ค่ายเครือข่ายโทรศัพท์ยักษ์ใหญ่ก็เตรียมจัดรายการแข่งขันระดับอลังการณ์ดาวล้านดวง แต่คำถามว่า E-sport ควรเป็นกีฬาหรือไม่? ยังคงเป็นประเด็นร้อนฉ่าในโลกโซเชียล เว็บบอร์ดชื่อดังยังคงถกเถียงกันอยู่จนถึงตอนนี้ แน่นอนว่าเสียงแตกออกเป็นสองฝั่ง ทั้งฝ่ายสนับสนุนที่มองว่านี่เป็นโอกาส และฝ่ายคัดค้านก็ห่วงใย ว่าหากไม่วางแผนให้ดีระยะยาว จะเกิดผลด้านลบต่อเยาวชน แต่ละฝ่ายให้ความเห็นได้น่าสนใจ วันนี้เราจึงยกบทสรุปความเห็นจากทั้งสองฝั่งมาพิจารณากันว่าควรเรียก E-sport ว่ากีฬาดีหรือไม่?

ฝ่ายสนับสนุน

1.E-sport ควรเป็นกีฬา ถ้าหากหมากรุกและกีฬาอื่น ๆ ที่ใช้ทักษะเฉพาะเป็นกีฬาได้

2.การเล่นเกมเป็นอาชีพ คือโอกาสสำหรับคนที่ทำงานไม่เก่ง ไม่มีความสามารถอื่นใดที่จะนำพาชีวิตไปสู่ความสำเร็จได้ คนเหล่านี้อาจสอบแข่งขันกับใครไม่ได้ ทำงานหนักไม่ได้ และกลายเป็นคนตกงาน สำหรับคนเหล่านี้ E-sport เป็นเหมือนประตูโอกาสสำหรับการสร้างคุณค่าในตัวเอง สร้างอาชีพ ไม่ให้เป็นภาระของครอบครัวและสังคม

3.E-sport เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสูง สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาล หากรัฐช่วยผลักดัน เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องรัฐจะมีเงินเข้าคลังไม่ขาดสาย เพราะธุรกิจนี้กำลังเติบโตอย่างก้าวกระโดด และมีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอีกในอนาคต

4.การระบุให้ E-sport เป็นกีฬาชนิดหนึ่งจะทำให้นักกีฬาได้รับการยอมรับ การให้เกียรติจากสังคม ทุกวันนี้การถูกเรียกว่าเด็กติดเกมเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดี ให้ความรู้สึกเชิงลบ เหมือนคำดูถูก เช่นเดียวกับอาชีพอิสระ หรือฟรีแลนซ์ ที่ชาวบ้านมักจะเข้าใจว่าเป็นคนไม่มีงานทำ การถูกสังคมตราหน้าแบบนั้นโดยที่โต้ตอบอะไรไม่ได้ มันก็เหมือนถูกชกอยู่ฝ่ายเดียว

ฝ่ายคัดค้าน

1.นักกีฬา E-sport มีเพียงส่วนน้อยที่ทำเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ ส่วนใหญ่ในต่างประเทศนักกีฬาตัวเล็กตัวน้อยที่ไปไม่ถึงระดับโปรเพลย์เยอร์ ยังอยู่ในสถานะตกงาน เบิกค่าเลี้ยงดูจากรัฐอยู่เลย ในขณะที่ประเทศไทยไม่มีระบบช่วยเหลือจากรัฐ และหากตัวนักกีฬาหาผู้สนับสนุนไม่ได้ ภาระค่าใช้จ่ายทั้งหมดจะตกแก่ครอบครัว

2.ถึงแม้เกมจะสร้างรายได้และเม็ดเงินหมุนเวียนมหาศาลก็จริง แต่เกมที่ถูกพัฒนาโดยคนไทยและสร้างการแข่งขันระหว่างผู้เล่นจริง ๆ จัง ๆ ยังไม่มี ส่วนใหญ่เกมที่เหล่าเกมเมอร์เล่นกันล้วนนำเข้ามาจากต่างประเทศ เม็ดเงินมหาศาลที่ว่าหมุนเวียนในระบบนี้จะตกไปอยู่กับนายทุนและเจ้าของลิขสิทธิ์ซึ่งเป็นต่างชาติ รัฐได้เพียงเศษเนื้อติดกระดูก

3.ลำพังแค่โซเชียลมีเดียเด็กไทยก็ติดกันงอมแงมแล้ว ผลสำรวจล่าสุดจากสถาบันแห่งหนึ่งระบุว่าเด็กไทยใช้เวลากับโซเชียลมีเดีย 98% มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 12% นี่ถ้าสนับสนุนให้เล่นเกมอีกก็น่าห่วงว่าเด็กจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกสมมติมากกว่าโลกจริง

4.ความพยายามผลักดันให้ E-sport เป็นกีฬาดูไม่โปร่งใส มีเรื่องของการตลาดที่น่าเคลือบแคลงใจ หากไม่ศึกษาผลกระทบให้ดี ผู้มีอำนาจรู้ไม่เท่าทันนักการตลาด อาจเป็นโทษมากกว่าเป็นคุณในระยะยาว

นี่เป็นเพียงบทสรุปความเห็นส่วนหนึ่งจากโซเชียลมีเดียเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าต่างฝ่ายต่างก็มีเหตุผลที่ควรรับฟัง สำคัญ คือทั้งสองฝ่ายต่างมีความปรารถนาดีเหมือน ๆ กัน สุดท้ายนี้ขอยกความเห็นของคนกลางคนหนึ่งที่เตือนไว้อย่างน่าสนใจว่า

ถึง E-sport จะเป็นหรือไม่เป็นกีฬาก็ตาม เกมเมอร์ทั้งหลายก็ควรแบ่งเวลาให้พอดี เรียน เล่น ให้เป็นเวลา จะได้ไม่รู้สึกว่าพลาดอะไรไปในชีวิต เมื่ออายุล่วงเลยไป 40 หรือ 50 ปี