รู้จักยัง FinTech ชื่อแปลกใหม่ ใครบ้างที่ยังไม่เคยได้ยิน

ในทุกยุคทุกสมัย คนเราก็รู้จักการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนสินค้า ใช้เงินตรา เงินพดด้วง เหรียญ หรือในรูปแบบของธนบัตร เมื่อปี 1950 การจับจ่ายใช้สอย ก็พัฒนาไปจนเริ่มมีการนำ credit card มาใช้ จนกระทั่งต่อมา ในราว ๆ ปี 1980 ก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จนก่อเกิดเป็น Online banking ล่าสุดก็เดินทางมาสู่ยุคของการนำ Financial และ Technology มารวมกันกลายเป็น FinTech (ฟินเทค) หรือ นวัตกรรมการเงินดิจิตอล โดยจะหมายถึงความต้องการในบริการทางการเงินต่าง ๆ อาทิ การรับส่ง การยืม การจ่ายเงินด้วยเทคโนโลยีที่เขย่าวงการเดิม ๆ จนสะท้านสะเทือนกันเลยทีเดียว

FinTech เช่นอะไรบ้าง

การบริการของฟินเทคนั้น มีในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การซื้อขายหุ้นแบบ Zero Commission, การชำระเงินออนไลน์หรือ E-payment ที่นับว่ามีบทบาทสำคัญมากต่อ E-commerce, การลงทุนในส่วนของภาษี ประกัน และกองทุน, ระบบวิธีการระดมทุนผ่านระบบ Online หรือที่รู้จักกันในนามของ Crowd Funding, ระบบที่ปรึกษาการลงทุนอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันว่า Robo-advisory system ที่ช่วยให้บริการในการจัดการทรัพย์สินต่าง ซึ่งมีความโปร่งใสในอัตราค่าบริการ และราคาถูกกว่าแบบเดิมเป็นอย่างมาก

ส่วนสำคัญของฟินเทคในการพัฒนาไปสู่ระบบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยิน หรือรู้จักกับ Blockchain (บล็อกเชน) คำอธิบายสั้น ๆ ของ บล็อกเชน คือ รูปแบบการเก็บข้อมูล (Data structure) แบบหนึ่ง ที่ทำให้ข้อมูล Digital transaction ของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุก ๆ คนได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ทำให้ block ของข้อมูลเชื่อมต่อไปยังทุก ๆ คนโดยระบุได้ว่าใครที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลนั้นจริง ๆ เมื่อบล็อกของข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ในห่วงโซ่ ดังนั้นการเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูล มันจะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อีกต่อไป เวลาที่มีใครต้องการจะเพิ่มข้อมูล ทุก ๆ คนในเครือข่ายซึ่งล้วนแต่มีสำเนาของบล็อกเชน ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ โดย Transaction ใหม่นี้จะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลง ก็ต่อเมื่อในเครือข่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยว่ามันถูกต้อง จะเห็นว่า Blockchain ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

โมเดลบิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นำเทคโนโลยีและความสามารถของบล็อกเชนมาใช้ เพื่อให้การซื้อขายสกุลเงินดิจิตอล (Digital currency) มีความปลอดภัย โดยการชำระเงินในระบบ Bitcoin นี้มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำมาก

ยิ่งไปกว่านั้น การมาของ Startup หรือบริษัทสายเลือดใหม่สายเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนในการปรับโฉมวงการการเงิน ที่ดำเนินการได้รวดเร็วกว่าบริษัทการเงินอย่างธนาคาร เริ่มต้น คิดค้น และลงมือทำด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้นวัตกรรรมทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้อนรับ FinTech
คนไทยคุ้นเคยกับการใช้เงินสด และไม่ได้รู้สึกว่าการพกเงินสดเป็นปัญหา อีกทั้งผู้นำด้านธนาคารส่วนใหญ่อาจยังไม่ต้องการที่จะเสี่ยงกับเทคโนโลยีที่พวกเขาไม่รู้จักดี หรือไม่เข้าใจ หลายคนอาจยังไม่พร้อมที่จะรับมือ อาจกลัวเทคโนโลยีที่มาจ่อหน้าประตูบ้านเราอย่างรวดเร็ว เรื่องเงินอาจะเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน ไม่มั่นใจ ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้การเติบโตของฟินเทคในบ้านเราอาจยังไม่ทัดเทียมต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ฟินเทคนั้น ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ง่ายขึ้น ประหยัดมากขึ้น สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ทั้งยังทำให้เราศึกษา ตรวจสอบข้อมูล การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง