หุ่นยนต์นักเสิร์ฟ เครื่องมือรักษาสภาพจิตใจของผู้ป่วยอัมพาต

จากการเปิดเผยข้อมูลขององค์การอนามัยโลกพบว่า โรคอัมพาต ถือเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่นำไปสู่การเสียชีวิตมากที่สุดเป็นอันดับสองของโลก และพบว่ามีอัตราเฉลี่ยถึงร้อยละ 30 ที่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตจากโรคนี้ ร้อยละ 40 ของผู้ป่วยจะไม่สามารถเคลื่อนไหวได้หรือเคลื่อนไหวได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ และจะมีเพียงแค่ร้อยละ 30 ของผู้ป่วยโดยเฉลี่ย ที่มีโอกาสหายหรือมีอาการที่ดีขึ้นได้ แต่ต้องหมั่นทานยาควบคุมตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด

                หากเจาะลึกลงไปกว่านั้น จะพบว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยโรคอัมพาต ไม่สามารถได้รับผลการรักษาที่เป็นไปในทิศทางที่ดีเท่าที่ควร มาจากสภาพจิตใจที่เกิดความท้อแท้ต่อการรักษาที่ต้องใช้เวลานาน และเห็นผลการรักษาค่อนข้างช้า เนื่องจากผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวร่างกายได้อย่างคล่องแคล่วดั่งในอดีต จึงเป็นเหตุให้ผู้ป่วยไม่พยายามที่จะทำกายภาพบำบัด หรือทานยาตามที่หมอสั่งอย่างเคร่งครัด นำมาซึ่งผลการรักษาที่ไม่สามารถพลิกฟื้นสภาพร่างกายและจิตใจของตัวผู้ป่วยให้กลับมาดีได้ดังเดิม

                แต่ล่าสุด มีกลุ่มผู้ที่สามารถคิดค้นหุ่นยนต์ที่สามารถควบคุมได้โดยผู้ป่วยอัมพาตสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอาจเรียกเจ้าหุ่นยนต์ตัวนี้ง่ายๆ ว่า หุ่นยนต์นักเสิร์ฟ และความพิเศษของเทคโนโลยีใหม่ชิ้นนี้คือ สามารถควบคุมหุ่นยนต์ให้เคลื่อนไหวได้จากระยะไกลผ่านการใช้สายตาในการพิมพ์ข้อความเพื่อออกคำสั่งต่างๆ ที่จะสามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้อย่างอิสระ นอกจากนี้ยังสามารถมองภาพได้ผ่านกล้องที่ถูกติดตั้งอยู่ในตัวหุ่นยนต์ ทำให้ผู้บังคับรู้สึกเหมือนได้เคลื่อนไหวอยู่ในอีกสถานที่หนึ่งเลยทีเดียว

                โดยเมื่อช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ปี 2018 ได้มีการเปิดร้านคาเฟ่ ดอว์น เวอร์ชันเบต้า ขึ้นในเมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เพื่อทดลองนำเอา หุ่นยนต์นักเสิร์ฟ มาใช้งานจริงๆ โดยถึงแม้จะเป็นเพียงช่วงทดลอง แต่ก็มีกลุ่มผู้ให้ความสนใจมากมายที่ได้มาลองใช้บริการที่คาเฟ่แห่งนี้ ทางร้านได้จ้างผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาตมาทำงานเป็นพนักงานคอยควบคุมคน และจ่ายค่าจ้างเป็นค่าแรงขั้นพื้นฐานตามกฎหมายของญี่ปุ่นในขณะนั้น และในปัจจุบันได้ทำการปิดปรับปรุงเป็นการชั่วคราว เพื่อที่จะนำผลที่ได้จากการทดลองไปปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น โดยจะกลับมาเปิดใหม่อีกครั้งในปี 2020

                ถ้าถามว่าสิ่งสำคัญของ หุ่นยนต์นักเสิร์ฟ อยู่ที่รายได้ที่เข้ามาสู่ร้านหรือไม่ ก็คงไม่ใช่ เพราะด้วยค่าจ้างที่จ่ายให้เป็นค่าแรงพื้นฐานของประเทศญี่ปุ่น ดังนั้นเพียงแค่จ้างพนักงานทั่วไป ก็น่าจะมีกลุ่มคนที่สนใจเข้ามาสมัครงานเป็นพนักงานเสิร์ฟที่คาเฟ่อยู่แล้ว แต่สิ่งสำคัญอยู่ที่ การได้เปิดประสบการณ์การเคลื่อนไหวในมุมมองที่แตกต่างให้แก่ผู้ป่วยโรคอัมพาต และช่วยเยียวยาสภาพจิตใจผู้ป่วยที่เป็นโรคอัมพาต ให้สามารถที่จะดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งมีความหวังในการรักษาโรคอัมพาตให้กลับมามีอาการที่ดีขึ้น และไม่เพียงแค่เรื่องการประกอบอาชีพเท่านั้น แต่ หุ่นยนต์นักเสิร์ฟ ยังสามารถที่จะนำมาเป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิตในอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อให้ผู้ป่วยอัมพาตได้ใช้ชีวิตดั่งที่ใจต้องการได้อีกครั้งในรูปแบบเสมือนจริง