E-banking เทคโนโลยีการเงินอิเล็กทรอนิกส์ ปลิดชีวิตบัตรเอทีเอ็มและธุรกรรมการเงินที่ยุ่งยาก

                ในยุคที่ทุกคนมีสมาร์ทโฟนใช้กันนั้น ทุกอย่างได้ถูกพัฒนาให้ก้าวหน้ามากขึ้น สะดวกสบายขึ้น รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เราไม่จำเป็นต้องออกไปซื้อข้าวกินเองแล้วก็ได้ เพราะมีการสั่งข้าวออนไลน์ส่งถึงที่ หรือการช้อปปิ้ง ที่สามารถสั่งของออนไลน์ได้แค่ภายในไม่กี่คลิก รวมไปถึงเราไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมอะไรให้วุ่นวายที่ธนาคารเหมือนสมัยก่อน เพราะตอนนี้เรามี E-banking ที่สามารถทำให้เรื่องการเงินทุกอย่างกลายเป็นเรื่องง่าย และสะดวกสบายมากขึ้น

ในสมัยก่อน เมื่อเราต้องการจะถอนเงินออกจาบัญชีธนาคารของเรา หรือเราจะทำการโอนเงินจากบัญชีของเราไปให้อีกคนหนึ่ง เราจำเป็นที่จะต้องไปที่ธนาคาร เขียนใบถอนหรือใบโอนเงิน ใช้เอกสารยืนยันตัวตนมากมายในการทำธุรกรรมแต่ละครั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่วุ่นวายมาก ต่อมาเรามีการพัฒนาบัตรเอทีเอ็มขึ้นมา ทำให้การถอนเงิน ฝากเงิน และโอนเงินสามารถทำได้โดยไม่ต้องไปที่ธนาคารอีกต่อไป เพียงแค่ใช้บัตรและตู้เอทีเอ็มเท่านั้น

แต่สิ่งเหล่านี้ก็กำลังจะหายไป เนื่องจากมีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่เกี่ยวกับธนาคาร หรือการทำธุรกรรมทางการเงินเกิดขึ้น เราไม่จำเป็นต้องมีบัตรเอทีเอ็มในการโอน ถอน หรือฝากเงินแล้ว เราใช้แค่แอปพลิเคชันบนมือถือของเราเท่านั้น  ซึ่งเป็นสัญญาณว่าบัตรเอทีเอ็มกำลังจะหายไปในไม่ช้า

E-banking ปลอดภัยเท่าบัตรเอทีเอ็มหรือใหม่?

E-banking หรือการทำธุรกรรมการเงินผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นเทคโนโลยีที่ถือว่าช่วยให้ชีวิตของคนยุคนี้สะสบายมากขึ้น โดยที่สามารถทำธุรกรรมการเงินได้ทุกที่ทุกเวลา แต่ประเด็นที่น่าสนใจคือ ถ้ามันง่ายและสะดวกขนาดนี้ แล้วความปลอดภัยอยู่ในระดับไหน

การที่เราต้องไปทำธุรกรรมการเงินด้วยตัวเองที่ธนาคารนั้น ถึงแม้จะดูวุ่นวาย แต่จริง ๆ แล้วข้อดีก็คือการที่เรามีเอกสารยืนยันตัวตนของเราในการทำธุรกรรมการเงินแต่ละครั้ง ทำให้มั่นใจได้ว่าจะได้รับความปลอดภัย ในทางตรงกันข้าม ถึงแม้ว่าการใช้ E-banking นั้นจะสะดวกและง่ายดายมาก แต่ในด้านของความปลอดภัยอาจจะไม่เท่ากับการที่เรายอมเสียเวลาเพื่อไปทำธุรกรรมการเงินด้วยตัวเอง

ถึงแม้ว่าจะมีระบบ OTP หรือการให้ใส่รหัสที่ระบบจะสุ่มสร้างขึ้น และส่งผ่านเบอร์โทรศัพท์ในรูปแบบของข้อความ เพื่อใช้เป็นการยืนยันตัวตน หรือระบบรหัสที่ให้กรอกทุกครั้งก่อนยืนยันการทำธุรกรรมผ่าน E-banking ก็อาจจะยังมีความปลอดภัยไม่พอ เนื่องจากตลอดเวลาตั้งแต่ ระบบ E-banking ถูกเปิดให้ใช้งาน ก็มีเรื่องราวของการปล้นเงินผ่าน E-banking อยู่ตลอด แม้กระทั่งเดือนที่ผ่านมา ก็ยังมีข่าวของลูกค้าธนาคารชื่อดังแห่งหนึ่งที่ใช้ E-banking ถูกปล้นเงินไปจนหมดบัญชี และยังไม่ได้เงินคืนกลับมา

เราก็ต้องไม่มองข้ามเรื่องของความปลอดภัยด้วย ยิ่งเป็นเรื่องของเงินทอง เรายิ่งจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยเป็นอย่างมาก ต้องคอยตรวจสอบ รอบครอบ และระมัดระวังในทุกขั้นตอนในการทำธุรกรรมเกี่ยวกับการเงิน

  • คอยตรวจสอบเงินในบัญชี E-banking และ บัญชีจริงอย่างสม่ำเสมอ
  • เช็คบันทึกรายการต่าง ๆ ที่เราเคยทำการ เพื่อเป็นการตรวจสอบบัญชี ถ้ามีรายการไหนที่ผิดปกติ เราจะได้สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ทันเวลา
  • อย่าจดรหัสผ่านที่ใช้ในการเข้าถึงบัญชีหรือยืนยันการใช้งาน E-banking ไว้ในกระดาษ หรือโน๊ตต่าง ๆ ที่จะมีใครเห็นได้
  • คอยเปลี่ยนรหัสผ่านอยู่เสมอ ๆ
  • คอยเช็คว่าได้ทำการออกจากระบบทุกครั้งหลังใช้งานเสร็จ

ทั้งหมดนี้เพื่อตรวจสอบความเรียบร้อย และความปลอดภัยเบื้องต้นของบัญชี E-banking ของ ถ้าวันใดที่เกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้นจริง ๆ เราจะได้รู้ตัวเร็วและรีบดำเนินการให้ทันเวลา

 

รู้จักยัง FinTech ชื่อแปลกใหม่ ใครบ้างที่ยังไม่เคยได้ยิน

ในทุกยุคทุกสมัย คนเราก็รู้จักการแลกเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนสินค้า ใช้เงินตรา เงินพดด้วง เหรียญ หรือในรูปแบบของธนบัตร เมื่อปี 1950 การจับจ่ายใช้สอย ก็พัฒนาไปจนเริ่มมีการนำ credit card มาใช้ จนกระทั่งต่อมา ในราว ๆ ปี 1980 ก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้น จนก่อเกิดเป็น Online banking ล่าสุดก็เดินทางมาสู่ยุคของการนำ Financial และ Technology มารวมกันกลายเป็น FinTech (ฟินเทค) หรือ นวัตกรรมการเงินดิจิตอล โดยจะหมายถึงความต้องการในบริการทางการเงินต่าง ๆ อาทิ การรับส่ง การยืม การจ่ายเงินด้วยเทคโนโลยีที่เขย่าวงการเดิม ๆ จนสะท้านสะเทือนกันเลยทีเดียว

FinTech เช่นอะไรบ้าง

การบริการของฟินเทคนั้น มีในหลากหลายรูปแบบ อาทิ การซื้อขายหุ้นแบบ Zero Commission, การชำระเงินออนไลน์หรือ E-payment ที่นับว่ามีบทบาทสำคัญมากต่อ E-commerce, การลงทุนในส่วนของภาษี ประกัน และกองทุน, ระบบวิธีการระดมทุนผ่านระบบ Online หรือที่รู้จักกันในนามของ Crowd Funding, ระบบที่ปรึกษาการลงทุนอัตโนมัติ หรือที่เรียกกันว่า Robo-advisory system ที่ช่วยให้บริการในการจัดการทรัพย์สินต่าง ซึ่งมีความโปร่งใสในอัตราค่าบริการ และราคาถูกกว่าแบบเดิมเป็นอย่างมาก

ส่วนสำคัญของฟินเทคในการพัฒนาไปสู่ระบบที่ซับซ้อนยิ่งขึ้น หลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยิน หรือรู้จักกับ Blockchain (บล็อกเชน) คำอธิบายสั้น ๆ ของ บล็อกเชน คือ รูปแบบการเก็บข้อมูล (Data structure) แบบหนึ่ง ที่ทำให้ข้อมูล Digital transaction ของแต่ละคนสามารถแชร์ไปยังทุก ๆ คนได้ เป็นเสมือนห่วงโซ่ (Chain) ที่ทำให้ block ของข้อมูลเชื่อมต่อไปยังทุก ๆ คนโดยระบุได้ว่าใครที่เป็นเจ้าของและมีสิทธิในข้อมูลนั้นจริง ๆ เมื่อบล็อกของข้อมูลได้ถูกบันทึกไว้ในห่วงโซ่ ดังนั้นการเข้าไปเปลี่ยนแปลงข้อมูล มันจะไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ อีกต่อไป เวลาที่มีใครต้องการจะเพิ่มข้อมูล ทุก ๆ คนในเครือข่ายซึ่งล้วนแต่มีสำเนาของบล็อกเชน ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ โดย Transaction ใหม่นี้จะได้รับอนุญาตให้เปลี่ยนแปลง ก็ต่อเมื่อในเครือข่ายส่วนใหญ่เห็นด้วยว่ามันถูกต้อง จะเห็นว่า Blockchain ได้กลายเป็นเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือ และถูกนำไปประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย

โมเดลบิทคอยน์ (Bitcoin) เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นำเทคโนโลยีและความสามารถของบล็อกเชนมาใช้ เพื่อให้การซื้อขายสกุลเงินดิจิตอล (Digital currency) มีความปลอดภัย โดยการชำระเงินในระบบ Bitcoin นี้มีค่าธรรมเนียมที่ต่ำมาก

ยิ่งไปกว่านั้น การมาของ Startup หรือบริษัทสายเลือดใหม่สายเทคโนโลยีที่เข้ามามีส่วนในการปรับโฉมวงการการเงิน ที่ดำเนินการได้รวดเร็วกว่าบริษัทการเงินอย่างธนาคาร เริ่มต้น คิดค้น และลงมือทำด้วยเทคโนโลยีใหม่ ๆ ทำให้นวัตกรรรมทางการเงินเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต้อนรับ FinTech
คนไทยคุ้นเคยกับการใช้เงินสด และไม่ได้รู้สึกว่าการพกเงินสดเป็นปัญหา อีกทั้งผู้นำด้านธนาคารส่วนใหญ่อาจยังไม่ต้องการที่จะเสี่ยงกับเทคโนโลยีที่พวกเขาไม่รู้จักดี หรือไม่เข้าใจ หลายคนอาจยังไม่พร้อมที่จะรับมือ อาจกลัวเทคโนโลยีที่มาจ่อหน้าประตูบ้านเราอย่างรวดเร็ว เรื่องเงินอาจะเป็นเรื่องยาก ซับซ้อน ไม่มั่นใจ ต้องปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ หรือสถาบันการเงิน สิ่งเหล่านี้ทำให้การเติบโตของฟินเทคในบ้านเราอาจยังไม่ทัดเทียมต่างชาติ แต่อย่างไรก็ตาม ฟินเทคนั้น ช่วยให้เราเข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ง่ายขึ้น ประหยัดมากขึ้น สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ทั้งยังทำให้เราศึกษา ตรวจสอบข้อมูล การเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง