ภัยร้าย Clickbait แฝงมากับความตื่นเต้น ล่อตาล่อใจ

ความอยากรู้อยากเห็น เป็นสัญชาตญาณของมนุษย์ และสิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญในการวิวัฒนาการของเผ่าพันธุ์มนุษยชาติ แต่เมื่อมันถูกนำมาใช้อย่างไม่ถูกต้องและไม่มีคุณธรรม จริยธรรม มันก็สามารถก่อเกิดความยุ่งเหยิงในสังคมและการอยู่ร่วมกันเช่นกัน

ในโลกยุคที่เทคโนโลยีพัฒนามากขึ้น ผู้คนสื่อสารกันมากขึ้นผ่านอินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟนแทบจะเป็นสิ่งแรกสำหรับผู้คนมากมายที่จะหยิบขึ้นมาดู ตั้งแต่ลืมตาตื่นอยู่บนที่นอน Social Media ต่าง ๆ เป็นช่องทางอันดับต้น ๆ ในการแบ่งปันข้อมูลข่าวสาร ทั้งข้อเท็จจริง อารมณ์ ความรู้สึก ความต้องการต่าง ๆ ต่อทั้งครอบครัว เพื่อน คนใกล้ชิด หรือแม้กระทั่งคนที่รู้จักกันเพียงโลกออนไลน์ก็ตาม

ดังนั้น การเชื่อมถึงกันนี้เอง ที่ทำให้บริษัทร้านค้าต่าง ๆ ลงทุนการโฆษณาผ่านช่องทางออนไลน์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ต่าง ๆ Social media ในหลาย ๆ Channels เพื่อดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาดูผลิตภัณฑ์สินค้าของตนเองให้มากขึ้น ทั้งยังต้องใช้สารพัดวิธีในการแย่งชิงผู้ซื้อ และการแข่งขันทางการค้าที่สูงขึ้นในแทบทุกอุตสาหกรรม

หนึ่งในวิธีที่ถูกใช้ในการดึงดูดผู้คนช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือสิ่งที่เรียกว่า clickbait แปลตรงตัว ก็คือ การล่อให้คลิก นั่นเอง Clickbait เป็นการใช้คำโปรยดึงดูดใจ ที่ทำให้ดูชวนสงสัย หรือ รูปภาพที่น่าสนใจ ใคร่รู้ จนผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตคลิกเข้าไปอ่านเพื่อไขข้อข้องใจ ทั้งที่เนื้อข่าวไม่ได้ตรงตามหัวข้อข่าวเลย หรือไม่มีข้อเท็จจริงใด ๆ อยู่เลยก็ได้ แต่การพาดหัวข่าวนั้นทำให้ผู้คนหลงกล และคลิกเข้าไป ทั้งนี้เพียงเพื่อเพิ่มยอดคลิกให้กับเว็บไซต์ปลายทาง เพราะเว็บไซต์ปลายทางจะมีรายได้จากจำนวนยอดคลิก ที่เรียกว่า “CTR-Click Through Rate” ที่เข้าชมหน้าเพจที่มีโฆษณาแปะอยู่ และจะมีรายได้มากขึ้นไปอีกจากการคลิกแบนเนอร์โฆษณาในเว็บไซต์เหล่านั้น เรียกว่า เป็นการล่อลวงเป็นทอด ๆ ไป

Clickbait ช่วงแรก ๆ อาจเริ่มจากเพียงการขโมยข่าวจากแหล่งอื่น ๆ การกระทำเช่นนี้ ก็ถือว่าผิดจริยธรรมและจรรยาบรรณมากแล้ว แต่ปัจจุบันได้พัฒนาไปจนถึงขั้นสร้างข่าวปลอมขึ้นมา อ้างชื่อบุคคลมีชื่อเสียง ดาราคนนั้นคนนี้ พร้อมเรื่องรุนแรง น่าตกใจ อาทิ เจ็บป่วยเข้าโรงพยาบาล ตั้งท้อง หรือแม้กระทั่งเสียชีวิต พร้อมใช้รูปภาพที่ไม่เกี่ยวข้องมาอ้างอิง วิธีเหล่านี้ เรียกคนอ่านได้มากก็จริง แต่ผลที่ตามมา คือภาพลักษณ์ที่แย่และไม่สามารถเรียกความน่าเชื่อถือคืนมาได้อีก

3 วิธีรับมือไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ

ถ้าผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตไม่อยากตกเป็นเหยื่อ ควรระวังตัวอย่างไร

  1. ตั้งสติ อะไรก็ตามที่มันมากเกินไป แปลว่า เราควรจะระวัง ดังนั้น พวกคำล่อลอง เช่น ตะลึง!! ไม่น่าเชื่อ!! แล้วคุณจะคาดไม่ถึง!! ผู้อ่านควรต้องใช้วิจารณญาณเพิ่มขึ้น อย่าหลงเชื่อไปกับข่าวในทันที
  2. ถ้าพลาดจากข้อแรก หรือกดเข้าไปอ่านแล้ว อย่าเพิ่มความเซ็งให้คนอื่น ฉะนั้น อย่าแชร์ อย่าต้องให้เพื่อนเราต้องเป็นเหยื่อไปด้วยเลย
  3. รายงานเจ้าของเว็บไซต์ เพื่อป้องกัน และหยุดยั้ง การแพร่กระจายของเนื้อหาอันไม่เป็นจริง

ดังนั้นในฐานะผู้เสพสื่อ ต้องใช้วิจารณญาณในการเสพ ไม่ตกเป็นเหยื่อ ตื่นตูมไปกับข่าวพวกนั้นง่าย ๆ ไม่แชร์ ไม่รีโพส โดยขาดสติ ขาดการไตร่ตรอง แค่นี้ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของวิธีนี้แล้ว