AR กับความสามารถจำลองสิ่งต่าง ๆ สู่ชีวิตประจำวัน

AR มาจาก Augmented Reality หรือนั่นก็คือ เทคโนโลยีเสมือนจริง โดยการรวมสภาพแวดล้อมจริง กับ วัตถุเสมือน ซึ่งอาจจะเป็น ภาพ เสียง วีดีโอ หรือข้อมูลดิจิตอล (Digital Contents) ต่าง ๆ ในช่วงเวลาเดียวกันเข้าด้วยกัน สร้างในลักษณะรูปแบบ 3 มิติ จำลองเข้าสู่โลกจริงผ่านกล้องและการประมวลผล ที่จะนำวัตถุมาทับซ้อนเข้าเป็นภาพเดียวกัน ทำให้เราสามารถมองผ่านกล้องและตอบสนองต่อโลกจำลองนั้นได้โดยตรง

วิธีการสร้างเทคโนโลยีเสมือนจริง คือ การวิเคราะห์ภาพ (Image Analysis) เพื่อค้นหา Marker จากภาพที่ได้จากกล้องแล้ว ค้นหาจากฐานข้อมูล (Marker Database) ที่มีการเก็บข้อมูลขนาดและรูปแบบของ Marker และนำมาวิเคราะห์รูปแบบของ Marker นั้น ขั้นตอนสุดท้าย คือการประมวลผลคำนวณค่าตำแหน่งเชิง 3 มิติจนได้ภาพเสมือนจริงนั่นเอง

การเกิดและเติบโตของเทคโนโลยีเช่น AR นั้นสามารถนำมาสร้างประโยชน์ได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิ

บทบาทของ AR ต่อธุรกิจ

  • ใช้เป็นแบบจำลองด้านศิลปะ ไม่ว่าจะเป็น การสร้างภาพจำลองของบ้าน เพื่อค้นหาเลือกเฟ้น อุปกรณ์ตกแต่งบ้าน เครื่องเรือน ที่เหมาะสม และเป็นที่ต้องการจริง ๆ ก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า
  • ใช้ในการด้านออกแบบสถานที่จัดงาน เพื่อเป็นแบบก่อนการจัดงานจริงว่า จะออกมาสวยและเป็นที่พึงพอใจต่อลูกค้าหรือไม่ ก่อนซื้อบริการต่าง ๆ
  • พิพิธภัณฑ์ หรือ หอศิลป์ต่าง ๆ ก็สามารถนำเทคโนโลยี AR มาใช้เพื่อสร้างประสบการณ์พิเศษเสมือนจริงให้กับผู้เข้าชมงานศิลป์ ทั้งยังเสริมจินตนาการในการเข้าใจเรื่องราวในอดีตสำหรับเนื้อหาในพิพิธภัณฑ์นั้น ๆ
  • ร้านค้า หรือ อุตสาหกรรมขนาดเล็ก ก็สามารถนำ AR มาสร้างแบบจำลองบนภาพจริง เพื่อเห็นผลลัพธ์ทันที ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับธุรกิจสินค้า จำพวก เสื้อผ้า รองเท้า หรือ แม้กระทั่งเครื่องสำอางค์ต่าง ๆ

บทบาทของ AR ด้านความบันเทิง

  • นำ AR มาใช้ในเกมต่าง ๆ ที่สามารถใส่ลูกเล่น เพิ่มฟีเจอร์ เพื่อให้ผู้เล่นมีปฏิสัมพันธ์ต่อเกมและเพื่อนร่วมเกม เพื่อความสนุกสนานที่มากขึ้น สมจริงมากขึ้น เกมที่โด่งดังในการนำ AR มามีส่วนก็คือ เกมPokemon Go ที่ใช้ในการค้นหาโปเกม่อนและการจับมัน นั่นเอง
  • นำมาใช้ในการสื่อสารทั่วไป ผู้คนในทุกวัย ทุกอายุ สื่อสารกันด้วยโปรแกรมแชทที่มีให้เลือกมากมาย หลากหลายกันเพิ่มขึ้น จุดเด่นหนึ่งของโปรแกรมแชทเหล่านั้นก็คือ การสื่อสารด้วยภาพ สติ๊กเกอร์ น่ารัก ๆ และตัวอย่างการนำ เทคโนโลยี AR กับ เทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้ามาสรรสร้างฟีเจอร์Animoji เพื่อพูดคุยกับเหล่าเพื่อน ๆ ได้อย่างสนุกสนาน

บทบาทของ AR ด้านการศึกษา

  • AR สามารถนำมาทำเป็นสื่อและข้อมูล ที่ทำให้สามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม ที่จะทำให้นักเรียนเข้าใจได้ง่ายขึ้น เช่น สัตว์โลกดึกดำบรรพ์ การจำลองสภาพแวดล้อมป่า ณ ขณะนั้น
  • สร้างแว่นตาอัจฉริยะ เพื่อใช้ในการศึกษาด้านการแพทย์ เรียนรู้กายวิภาคศาสตร์ รายละเอียดต่าง ๆ ตำแหน่งโครงสร้างอวัยวะมนุษย์ เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น เรียนรู้ได้รวดเร็วขึ้น
  • อุตสาหกรรมการบิน เพื่อใช้ในการฝึกนักบิน โดยการแสดงผลผ่านจอภาพบนหมวกนักบิน แสดงเส้นทางการบิน แนวร่อนลงจอด หรือข้อมูลประกอบการบิน โดยที่นักบินไม่ต้องก้มไปมองที่แผงควบคุม หรือ แผงหน้าปัด

จะเห็นว่า เทคโนโลยีเสมือนจริงนั้น สามารถสร้างประโยชน์ได้มากมาย ต่อทั้งผู้ประกอบการธุรกิจ ลูกค้า นักเรียน นักศึกษาหรือบุคคลทั่วไป สิ่งเหล่านี้จะเข้ามาเติมเต็มชีวิตประจำวันของทุก ๆ คนอย่างละนิด อย่างละหน่อย แบบที่เราอาจจะลืมสังเกตุการเปลี่ยนแปลงเลยด้วยซ้ำ