หลอกรักออนไลน์ อาชญากรรมทางเทคโนโลยีสุดน่ากลัว

ชื่อดูเหมือนซีรีย์กุ๊กกิ๊กแนวเกาหลี แต่เชื่อเถอะมันไม่โสภาโสภีเหมือนซีรีย์ที่ว่าหรอก “โรมานซ์แกรม” หรือ “โรมานซ์แกรมเมอร์” เป็นกลลวงสุดแสบของมิจฉาชีพหัวใส ซึ่งนับเป็นอาชญากรรมทางเทคโนโลยีอย่างหนึ่ง อาชญากรรมชนิดนี้ต่อยอดมาจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่เคยระบาด สร้างความเสียหายมูลค่ามหาศาลมาก่อนหน้านี้ เมื่อคนรู้เท่าทันวิธีการเดิมเริ่มไม่ได้ผลมิจฉาชีพก็พยายามเปลี่ยนวิธีการเรื่อย ๆ

วิธีการลวงเหยื่อ

โรมานซ์แกรม หรือหลอกรักออนไลน์มีวิธีการแยบยลกว่าวิธีการคอลเซ็นเตอร์ คือ มิจฉาชีพมักจะก่อเหตุอย่างใจเย็น โดยเริ่มแรกจะส่งคำขอเป็นเพื่อนกับเหยื่อ โดยมากมักจะใช้รูปประจำตัวเป็นหนุ่มหล่อผิวขาวชาวตะวันตก เพื่อให้เหยื่อกดรับเป็นเพื่อนโดยง่าย ไม่นานก็จะแชทเข้าไปพูดคุยกับเหยื่อ ระหว่างนั้นก็มักจะลงรูปอวดความร่ำรวย โชว์ชีวิตหรูหราเสมอ และจะมีเพื่อนซึ่งเป็นหน้าม้า หรือตัวเองที่ล็อกอินยูเซอร์อื่นเข้าไปคอมเม้นต์โต้ตอบ เพื่อให้เหยื่อรู้สึกว่าบุคคลนั้น ๆ มีตัวตนจริง การแชทพูดคุยกับเหยื่อมักจะหยอดคำหวานจีบเหยื่อ ทำให้รู้สึกว่าอยากคบหาดูใจ

ผ่านไปสักระยะเมื่อเห็นว่าเหยื่อไว้ใจและรู้สึกว่าเป็นคู่รักกันแล้วก็มักจะเริ่มออกลาย เริ่มบ่นเรื่องปัญหาทางการเงินหรือธุรกิจไม่ลงตัว เริ่มเรียกร้องต้องการยืมเงินจากเหยื่อ เพราะจะนำไปจ่ายภาษีเพื่อให้เข้าเงื่อนไขรับมรดก หรือเพื่อให้ธุรกิจมีสภาพคล่อง (ส่วนใหญ่มักจะใช้ข้ออ้างนี้) โดยสัญญากับเหยื่อว่าหลังจากได้รับเงินมรดกหรือปันผลทางธุรกิจแล้ว จะคืนเงินมากกว่าห้าหรือสิบเท่าให้กับเหยื่อ โดยมิจฉาชีพพวกนี้มักจะมีวาทะศิลป์ดีโน้มน้าวเหยื่อจนตายใจ เมื่อได้รับเงินจากเหยื่อแล้วระหว่างนั้นจะยังไม่หายไปไหน ทำให้เหยื่อรู้สึกว่าไม่ถูกเชิดเงินหนีและจะพร่ำบอกเหยื่อเสมอว่าใกล้ได้รับเงินแล้ว อาทิตย์นี้ เดือนนี้จะคืนให้ ถ้าเหยื่อยิ่งตกหลุมรักมากมิจฉาชีพเหล่านี้จะยิ่งหลอกซ้ำให้โอนเงินให้เรื่อย ๆ อาจจะมีการคืนเงินบางส่วนเพื่อให้เหยื่อเชื่อใจแล้วขอยืมอีกครั้งในวงเงินที่มากขึ้น เหยื่อที่โดนหลอกเอาทรัพย์สินไปมากที่สุดเสียหายกว่า 33 ล้านบาท!!!

กว่าจะรู้ว่าโดนหลอกเหยื่อแต่ละคนลมแทบจับ ยิ่งโดยเฉพาะตอนความจริงปรากฏ เมื่อเห็นตัวจริงของคนที่ตนเองคุยด้วย คนที่เหยื่อเรียกเต็มปากว่าคนรักนั้นแท้จริงแล้ว เป็นชาวอาฟริกาผิวดำชนิดไม่ตรงปก โดยเหยื่อที่ตกเป็นเป้าหมายของแก๊งโรมานซ์แกรมเหล่านี้มักจะเป็นสาวโสดวัยกลางคนอายุระหว่าง 40-60 ปี เพราะเหยื่อเหล่านี้อารมณ์อ่อนไหวต่อความรักนั่นเอง

ข้อสังเกต

กลลวงของมิจฉาชีพเหล่านี้มักจะแสดงช่องโหว่ให้จับพิรุธได้ง่ายเช่น มีอาการตกหลุมรักเหยื่อโดยง่าย ไม่ยอมให้นัดเจอ ไม่ยอมเปิดกล้องคุยกันแบบเห็นใบหน้า บ่ายเบี่ยงการเปิดเผยตัวจริงทุกรูปแบบ สะกดภาษาอังกฤษแบบผิด ๆ ถูก ๆ เหตุผลที่ใช้ขอยืมทรัพย์สินจากเหยื่อดูไม่มีน้ำหนัก เป็นต้น

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงมิจฉาชีพรูปแบบหนึ่งจากมิจฉาชีพสารพัดรูปแบบ พวกเขากำลังแฝงตัวก่ออาชญากรรมทางเทคโนโลยีอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต กลลวงบางอย่างเป็นสิ่งที่คนดีๆนึกไม่ถึง จนทำให้ตกเป็นเหยื่อได้เช่นกัน อย่างไรก็ตามการติดตามข่าวสารและรับฟังคำเตือนจากสังคม คนรอบข้าง คงเป็นเกราะป้องกันตัวที่ดีที่สุดเมื่อเจอสถานการณ์เช่นนี้